
150 ปี ศุลกากร...เปิดตำนาน “ศุลกสถาน” สถาปัตยกรรมทรงคุณค่าผ่านกาลเวลา
“ศุลกสถาน” หรือ “โรงภาษีร้อยชักสาม” ตึกเก่า เข้ม ขลัง อายุมากกว่า 130 ปี ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิกแบบพัลลาเดียน (Palladianism) ที่เหมือนมีมนต์ขลังตรึงตาตรึงใจ แก่ผู้พบเห็น ประตูด่านแรกย่านการค้าในอดีต และได้กลายเป็นที่มาของหนึ่งในตำนานอาคารเก่าอันทรงคุณค่าของเจริญกรุงในปัจจุบัน
ออฟฟิศศุลกากร ศูนย์กลางด้านภาษีทั้งขาเข้าและส่งออก
นับตั้งแต่ไทยลงนามในสนธิสัญญาบาวริงกับรัฐบาลอังกฤษ เปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก ในสมัยรัชกาล ที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2427 จึงมีการจัดตั้งสถานที่ในการจัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยละสาม(ร้อยชักสาม) และภาษีขาออก ตามที่ระบุไว้ท้ายสนธิสัญญา โดยแต่เดิมเรียกสถานที่นั้นว่าโรงภาษีร้อยชักสาม ซึ่งเป็นผลงานเอกของโยอาคิม กราซซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาเลียน มีลักษณะเด่นคือความสมมาตรของอาคาร เน้นความสำคัญของส่วนโถงหลักในอาคารให้มีความโอ่โถงยิ่งใหญ่ และใช้องค์ประกอบการตกแต่งแบบกรีก-โรมันในสัดส่วนที่งดงามลงตัว ดังความตั้งใจของพระยาภาสกรวงศ์ ผู้ดูแลการปฏิรูปภาษีของรัชกาลที่ 5 ที่ต้องการสร้างตึกที่สวยงามให้เป็นหน้าบ้านของกรุงเทพฯ สำหรับคนที่เดินทางมาทางเรือ จึงมีการออกแบบมาเพื่อสร้างความตื่นตาให้กับผู้พบเห็น โดยกรมศุลกากรได้ใช้ศุลกสถานเป็นสำนักงานเรื่อยมาจนปี พ.ศ. 2492 จึงได้ย้ายที่ตั้งสำนักงานไปอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย ศุลกสถานจึงถูกเปลี่ยนมาเป็น ที่ทำการกองบังคับการตำรวจน้ำ และสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก และเมื่อหน่วยงานดังกล่าวมีการโยกย้ายออกไป ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆกับศุลกสถานอีกเลยร่วมสิบกว่าปี
อย่างไรก็ดี อาคารศุลกสถานถือเป็นโบราณสถานสำคัญ ที่เป็นตัวแทนบอกเล่าประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ การคลังของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ อีกทั้งเทคนิคการก่อสร้างอาคารยังทรงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ที่ใช้โครงสร้างแบบยุโรป ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทยเพียงไม่กี่หลัง
ปัจจุบันอาคารศุลกสถานอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อทำเป็นโรงแรมภายใต้คอนเซ็ปต์การออกแบบที่เน้นจุดขายด้านการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์อายุ 130 ปี เพื่อสะท้อนถึงความสมบูรณ์งดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมและรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์
ตึกในตำนานสู่ดวงตราฉลอง 150 ปี
เนื่องในโอกาสที่กรมศุลกากรดำเนินกิจการมาอย่างยาวนานกว่า 150 ปี ไปรษณีย์ไทยจึงได้ร่วมเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ด้วยการจัดทำแสตมป์ที่ระลึก 150 ปี กรมศุลกากร เพื่อบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์หน่วยงานสำคัญระดับชาติ ผ่านดวงแสตมป์ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ด้านการสื่อสารที่ทรงคุณค่าผ่านกาลเวลามาทุกยุคสมัย โดยนำเสนอภาพอาคารศุลกสถาน ไอคอนิกของกรมศุลกากร ผ่านเทคนิคภาพกราฟิกสีน้ำ เพื่อจารึกสถาปัตยกรรม อันทรงคุณค่า โดยให้เป็นตำนานที่อยู่เหนือกาลเวลาตลอดไป