
ภารกิจยิ่งใหญ่ในพื้นที่ห่างไกล!! ตามเส้นทาง “พี่ไปรฯ ตาโต-ศรินยา” หญิงแกร่งหนึ่งเดียวแห่งอุ้มผาง ผู้ทำหน้าที่ส่งความสุขถึงทุกบ้าน
“หมู่บ้านอุ้มผางคี” ฟังดูชื่อนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรนัก
ตั้งอยู่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ในอ้อมกอดของขุนเขายากต่อการเข้าถึง
ประกอบไปด้วยหมู่บ้านของชนเผ่ามากมายหลายหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ
แต่ไม่ว่าจะยากต่อการเข้าถึงเพียงใด “ไปรษณีย์ไทย” หน่วยงานการสื่อสารและขนส่งหลักแห่งชาติที่ให้บริการคนไทยเสมอมา
ยังคงทำหน้าที่ในการนำส่งจดหมาย เอกสารสำคัญ พัสดุ และทำให้ความห่างไกลไม่เป็นอุปสรรคในทุกๆ
เส้นทาง ซึ่งมีสิ่งที่ทุกคนคุ้นชิน และผูกพันกันเป็นอย่างดีก็คือ พี่ไปรฯ หรือบุรุษไปรษณีย์ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ทำหน้าที่ส่งสาร แต่ยังเป็นผู้ส่งสัมพันธภาพอันดี
และเป็นหนึ่งในอาชีพที่ผู้คนในทุกพื้นที่ให้ความไว้วางใจทั้งในด้านความชำนาญเส้นทาง
การรู้ความต้องการของทุกบ้าน รวมทั้งความมานะที่จะเข้าถึงทุกที่แม้ว่าเส้นทางนั้นจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม
เช่นเดียวกันกับ “ตาโต-ศรินยา
ธรรมสงบยิ่ง” พี่ไปรฯ หญิงแกร่งแห่งพื้นที่อุ้มผาง จ.ตาก ที่ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ส่งความสุขให้กับคนในชุมชน
ซึ่งถึงแม้ว่าเส้นทางจะยากลำบาก เนื่องด้วยพื้นที่ที่อยู่กลางหุบเขา
แต่ด้วยใจรักบริการ และต้องการเห็นคนในชุมชนยังคงได้รับข่าวสารและสิ่งของต่างๆ
อย่างต่อเนื่อง จึงมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานที่รักและสร้างรอยยิ้มให้กับคนในหมู่บ้านให้ได้รับสิ่งของจากเธอในทุกๆ วัน
ตาโต - ศรินยา เล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า จุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาทำงานกับไปรษณีย์ไทยแล้วกว่า
6 ปี เป็นเพราะตัวเองมีใจรักในการบริการ เมื่อก่อนที่เห็นบุรษไปรษณีย์ขึ้นมาส่งพัสดุที่หมู่บ้าน ก็รู้สึกอยากที่จะทำงานนี้บ้าง
เพราะเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และแม้เส้นทางจะทุรกันดาร
ถนนหนทางไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เนื่องจากหมู่บ้านที่ต้องออกไปนำจ่ายจะอยู่บนเขา
บนดอย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค ในการนำส่งจดหมายหรือพัสดุแม้แต่น้อย
พี่ไปรฯ ตาโต เล่าต่อว่า ในทีมไปรษณีย์อุ้มผางมีทั้งหมด 11 คน แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นผู้หญิงคนเดียวในทีม
จึงได้รับฉายาว่า "หญิงแกร่งแห่งการนำจ่าย" เพราะพื้นที่ที่ออกไปนำจ่ายเป็นเส้นทางทุรกันดารมาก
และต้องใช้เวลาในการเดินทางนาน อำเภออุ้มผางมีพื้นที่กว่า 4,300 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เทียบได้กับพื้นที่ประมาณ 3 เท่าของ กรุงเทพมหานคร
เส้นทางเป็นภูเขาเลาะไปตามเทือกเขาสูงชันต้องใช้ความระมัดระวัง อย่างมาก เส้นทางเป็นถนนขรุขระ
หรือช่วงไหนที่เจอสะพานชำรุดเสียหายไม่สามารถข้ามไปได้ก็ต้อง ใช้อีกเส้นทางที่อ้อมมากกว่าจะถึงจุดหมาย
ประกอบกับถ้าเป็นช่วงหน้าฝนการเดินทางจะยิ่งลำบากเพิ่มอีก
"ระยะทางที่ออกไปนำจ่ายไกลที่สุดคือประมาณ
60-70 กิโลเมตร และต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ในการเดินทาง
แต่เมื่อไปถึงที่หมายก็จะรู้สึกหายเหนื่อยและยิ้มได้ทุกครั้ง
เพราะเหมือนได้กลับบ้านตัวเองด้วย เพราะทุกคนในพื้นที่เป็นเหมือนญาติพี่น้องกัน
ทุกคนก็จะมายืนรอรับพัสดุกันด้วยสีหน้าท่าทางดีใจเมื่อเห็นเราขึ้นไป และด้วยความที่เราเป็นผู้หญิง
คนในพื้นที่ก็จะยิ่งชื่นชม เข้ามาพูดคุยถามไถ่ว่าเหนื่อยไหม
หรือถ้ามีโอกาสก็จะได้ร่วมกินข้าวกับชาวบ้านในพื้นที่ บางทีจึงได้พูดคุยกันถึงข่าวสารบ้านเมืองความต้องการและความเดือดร้อนของคนในพื้นที่
เพราะด้วยพื้นที่อำเภออุ้มผางเป็นพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลเวลาจะเข้าเมืองก็ไม่สามารถทำได้ง่าย
พอเราขึ้นไปส่งพัสดุก็จะมีคนในพื้นที่ฝากข่าวสารผ่านเรา เพื่อให้ไปบอกผู้ใหญ่บ้านให้
เนื่องจากบนหมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์"
พี่ไปรฯ ตาโตย้ำว่า ไปรษณีย์ไทยไม่ได้แค่ส่งของหรือพัสดุเท่านั้น
แต่ยังส่งความสุข ความสำเร็จ กำลังใจ และความคิดถึง เพราะนอกจากจะมีจดหมายแล้ว
ส่วนใหญ่ของที่ไปส่งจะเป็นพวกของใช้ ของกิน ผลไม้ตามฤดูกาล
เรารับรู้ได้ว่าสิ่งของเหล่านั้นล้วนมากจากคนที่รักเพื่อส่งมอบให้กับคนที่พวกเขารักเช่นเดียวกัน
จึงเป็นที่มาของการออกนำจ่ายทุกวันเพื่อไปส่งมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับคนในพื้นที่กว่า
500 หลังคาเรือน ณ หมู่บ้านอุ้มผางคี
"เพราะสิ่งที่เราทำวันนี้ไม่ใช่แค่การส่งของ
แต่เป็นการส่งความสุข ส่งความสำเร็จ ส่งกำลังใจ และส่งความคิดถึงที่ผู้ใช้บริการมั่นใจและให้ความไว้วางใจมาโดยตลอด
นั่นคือเป้าหมายในการทำงานของไปรษณีย์ไทย"