รูปภาพโฆณา แบบภาพวนซ้ำ

ข่าวประชาสัมพันธ์



รมว.ดีอีเอส มอบนโยบาย ไปรษณีย์ไทย เดินหน้าสู่ “Tech Post” ลุยเสริมศักยภาพเครื่องคัดแยก พร้อมเทคโนโลยีใหม่ เพิ่มแรงหนุนการเติบโตอีคอมเมิร์ซ

กรุงเทพฯ 5 ตุลาคม 2564 – นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทยซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ พร้อมดูกระบวนการคัดแยกสิ่งของ ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ โดยได้มอบนโยบายในการขับเคลื่อนองค์กร ตอกย้ำบทบาทด้านการสื่อสารและขนส่งหลักของชาติ ผ่านแนวทางสำคัญ ได้แก่ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล หรือ Tech Post การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม การให้บริการครบวงจร และการรักษาคุณภาพบริการ โดยไปรษณีย์ไทยพร้อมขานรับนโยบาย เดินหน้าเพิ่มศักยภาพการคัดแยกพัสดุด้วยการติดตั้งเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เพิ่มเพื่อรองรับปริมาณสิ่งของจากกลุ่มธุรกิจ e-Commerce   ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) ซึ่งสามารถคัดแยกสิ่งของได้กว่า 6,400,000 ชิ้นต่อเดือน พร้อมทั้งเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการด้วยเครื่องให้บริการรับฝากอัตโนมัติ (APM) ให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการฝากส่งสิ่งของด้วยตนเองได้ง่ายๆ ตลอด 24 ชั่วโมง


นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยในฐานะหน่วยงานขนส่งหลักของประเทศ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ดำเนินภารกิจด้านการสื่อสารและการขนส่งให้ประชาชนทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไปรษณีย์ไทยมีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือภาคสาธารณสุข การขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ การบรรเทาภาวะวิกฤตให้กับองค์กรและชุมชน นอกจากนี้ เพื่อยกระดับไปรษณีย์ไทยให้ตอบโจทย์มิติทางเศรษฐกิจและสังคมมากได้ยิ่งขึ้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้มีนโยบายให้ไปรษณีย์ไทยยกระดับองค์กร 4 แนวทาง คือ

การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล หรือ Tech Post โดยไปรษณีย์ไทยจะต้องนำเทคโนโลยี และ BIG DATA ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้บริการมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของผู้ใช้บริการและพัฒนาการบริการ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตแบบใหม่ของกลุ่มต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงสร้างความไว้ใจให้กับผู้ใช้บริการในทุกๆ กลุ่ม อาทิ โครงการพัฒนาระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Total Document Handling: TDH) การพัฒนาระบบให้บริการ e-Payment โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการนำจ่าย และการติดตามขั้นตอนการขนส่งแบบเรียลไทม์ เป็นต้น

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของหน่วยงานการขนส่งของชาติ โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่ปัจจุบันล้วนต้องพึ่งพาระบบขนส่งเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ รวมถึงมุ่งบรรเทาวิกฤตที่เกิดจากโรคระบาดและสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งในปีนี้ไปรษณีย์ไทยถือว่าทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะโครงการ  ส่งความห่วงใย ส่งให้สู้ภัย COVID-19 ที่ได้ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศฟรีรวมกว่า 250,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการจัดส่งกว่า 10 ล้านบาท และร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรขนส่งเตียงกระดาษไปให้โรงพยาบาลสนามต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 2,300 เตียง

การให้บริการครบวงจร ด้วยการอำนวยความสะดวกทางธุรกรรม การสื่อสาร การขนส่ง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจากผลการดำเนินงานในปัจจุบันพบว่าไปรษณีย์ไทยมีระบบการดำเนินงานและการให้บริการอย่างครบวงจร ทั้งด้วยบริการคลังสินค้า การร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อขยายบริการสู่การให้บริการทางการเงิน การเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าชุมชน เว็บไซต์ Thailandpostmart.com การเปิดบริการรับฝากส่งพัสดุทุกวัน การมีบริการรับฝากพัสดุถึงบ้าน รวมถึงการขยายธุรกิจไปสู่การขนส่งด่วนแบบควบคุมอุณหภูมิ ฟิ้วซ์โพสต์และการให้บริการคลังสินค้าครบวงจร (THP Fulfillment)

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาคุณภาพบริการ ทั้งความรวดเร็ว ความแม่นยำ และ
 ความปลอดภัย เพื่อเป็นผู้ให้บริการสื่อสารและขนส่งของชาติที่คนไทยจะไว้วางใจได้เสมอ  




ด้าน ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
  กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้เดินหน้าพัฒนาการดำเนินงานและการบริการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ไปรษณีย์ไทย  มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันการดำเนินงานขององค์กรสู่ความเป็น Tech Post อย่างเต็มรูปแบบโดยทุกกระบวนการทำงานของไปรษณีย์ไทยจะมีการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานมากขึ้น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และคนไทย โดยล่าสุดไปรษณีย์ไทยได้เดินหน้าเพิ่มศักยภาพการคัดแยกพัสดุ ด้วยการติดตั้งเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เพิ่ม เพื่อรองรับปริมาณสิ่งของจากกลุ่มธุรกิจ e-Commerce ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) ซึ่งสามารถคัดแยกสิ่งของได้กว่า 7,200,000 ชิ้นต่อเดือน มากกว่าเครื่อง คัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เดิมที่คัดแยกสิ่งของได้ 6,500,000 ชิ้นต่อเดือน โดยการติดตั้งเครื่อง Cross Belt Sorter ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) นับเป็นเครื่องที่ 3 ต่อจากศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา และศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ ซึ่งเมื่อรวมศักยภาพของทั้ง 3 เครื่องแล้ว จะรองรับปริมาณงานได้มากถึงกว่า 20,000,000 ชิ้นต่อเดือน พร้อมทั้งมีแผนในการติดตั้งเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เพิ่มที่ศูนย์ไปรษณีย์อีก 8 แห่ง คือ ศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา ศูนย์ไปรษณีย์ขอนแก่น ศูนย์ไปรษณีย์อุบลราชธานี
  ศูนย์ไปรษณีย์ทุ่งสง ศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่ ศูนย์ไปรษณีย์พิษณุโลก ศูนย์ไปรษณีย์ลำพูน  และศูนย์ไปรษณีย์ราชบุรี ให้ครบ 11 เครื่อง ภายในปี 2566

  


ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยซึ่งมีศูนย์ไปรษณีย์ครอบคลุมทั่วประเทศถึง 19 ศูนย์ สามารถคัดแยกสิ่งของฝากส่งจากทั่วประเทศกว่า 3,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการทั้งภาคส่วนผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป และเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ e-Commerce เดินหน้าอย่างไม่สะดุด สามารถส่งด่วนทุกปลายทางแม้จะมีปริมาณสิ่งของที่ต้องการจัดส่งจำนวนมาก

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยได้นำร่องติดตั้งเครื่องให้บริการรับฝากอัตโนมัติ (
APM) ให้บริการกับประชาชนใน
7 ที่ทำการไปรษณีย์ คือ ไปรษณีย์จตุจักร ไปรษณีย์นนทบุรี ไปรษณีย์ลาดพร้าว ไปรษณีย์ภาษีเจริญ ไปรษณีย์บางขุนเทียน ไปรษณีย์บางพลี เคาน์เตอร์ไปรษณีย์แสมดำ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับผู้ใช้บริการในรูปแบบ Self-Service ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการได้ลดระยะเวลารอคอยใช้บริการที่เคาน์เตอร์ และอำนวยความสะดวกในยุคที่ต้อง social distancing โดยปัจจุบันเครื่อง APM สามารถให้บริการฝากส่งได้ 3 ประเภท คือ EMS ไปรษณีย์ลงทะเบียน และพัสดุไปรษณีย์ โดยเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น Smart Post Office ต่อไป ดร.ดนันท์ กล่าวทิ้งท้าย

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader
ขออภัยครับ

ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

}